เปิดบันทึกนักชกญี่ปุ่นที่ได้แชมป์โลกจากต่างแดน เผยแพร่ในนิตยสารน็อคเอาท์ ฉบับ มวยโลก เล่มที่ 1719, เล่มที่ 1720 (แก้ไขครั้งที่ 1) และ เล่มที่ 1721 (ปรับปรุงเนื้อหาและแก้ไขครั้งที่ 2)ปัจจุบันนี้หากจะบอกว่าเป็นยุคทองมวยโลกของประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนไปสักเท่าใดนัก เพราะมีแชมป์โลกมวยสากลอาชีพชายมากถึง 11 คนนั่นเอง (แม้ว่า "ซ้ายพระเจ้า" ชินสึเกะ ยามนากะ พึ่งจะเสียแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวตของ WBC คาบ้านไปหมาดๆก็ตาม) โดยล่าสุดนั้นทุกคนก็คงรู้ดีว่า โช คิมูระ นักชกในสังกัดของ อาโอกิ ยิม ที่มีทาง สิงห์หยก ส.จิตรลดา หรือที่มีชื่อจริงว่า นายมาซายูกิ อาริโยชิ อดีตนักมวยไทยเมื่อหลาย 10 ปีก่อนเป็นผู้จัดการนั้น เพิ่งจะเดินทางไปกระชากเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของ WBO มาจากเมืองจีน ด้วยการเอาชนะ TKO "มนุษย์ทองคำ" โจว ซื่อ หมิง หรือที่คนไทยเราเรียกขานกันติดปากว่า ซู ชิหมิง ตามตัวอักษรพินอินที่อ่านแบบการสะกดคำในภาษาอังกฤษ (ซึ่งความจริงไม่ใช่) ซูเปอร์สตาร์มวยโลกชาวจีนไปได้ในยกที่ 11 พร้อมทั้งหอบเข็มขัดแชมป์โลกกลับบ้านไปได้อย่างยิ่งใหญ่ ขึ้นแท่นเป็นแชมป์โลกชายคนล่าสุดคนที่ 84 ของประเทศ (นับรวม 3 แชมป์โลกต่างชาติ ที่ถูกนำไปสร้างสรรค์ในญี่ปุ่นด้วย อันได้แก่ ยูริ อาร์บาชาคอฟ, ออร์ซุลเบ็ค นาซารอฟ และ เด่น จุลพันธ์)และจากการที่เราคุ้นเคยกับภาพของนักชกญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นชิงแชมป์โลกในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ หลายต่อหลายคนจึงเข้าใจกันว่า โช คิมูระ นั้น คือนักชกญี่ปุ่นรายแรกที่สามารถจะคว้าเข็มขัดโลกจากต่างแดน (ไม่นับแชมป์เฉพาะกาลและแชมป์สถาบันที่ JBC ไม่ได้ให้การรับรองในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งก็คือ โกกิ เอโตะ ที่ชิงแชมป์เฉพาะกาลรุ่นฟลายเวตของ WBA ได้จากเมืองไทย ) แต่ความจริงแล้วในอดีตก่อนหน้านั้น มีนักมวยญี่ปุ่นถึง 9 รายด้วยกัน ที่สามารถจะคว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ จากการชิงชัยยังต่างแดน (แต่หากจะนับเฉพาะที่ทาง JBC รับรองก็จะมีเพียงแค่ 7 ราย) ซึ่ง "ลุยมวยโลกสไตล์นาย... บ็อกซิ่ง-บอย" ก็จะนำรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้อันว่านักชกญี่ปุ่นคนแรกที่ได้แชมป์โลกมากจากแดนไกลนั้น ความจริงนั้นเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 49 ปีก่อน และเขาคนนั้นก็คือ โชโซ ไซโจ้ (29-7-2; 8KO) นักชกเจ้าของฉายา "ซินเดอเรลล่า บอย" จากไซตามะ ที่คว้าแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวตของ WBA มาครองได้สำเร็จ ด้วยการชนะคะแนน 15 ยก เหนือต่อ ราอูล โรฮาส แชมป์โลกชาวอเมริกัน เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1968 ที่มหานครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา แถมยังเป็นชัยชนะที่ขาดลอยเสียด้วย เพราะได้นับในยกที่ 6 ตุนเอาไว้ โดยกรรมการทั้ง 3 นายนั้นให้ทางไซโจ้ชนะไปขาดลอย 13-3, 11-5 และ 10-5 ตามระบบให้คะแนนแบบยุคโบราณ เรียกว่าหากจะพยายามดั้นเมฆอย่างไรก็คงจะทำไม่ได้อย่างแน่นอนส่วนรายต่อมานั้นพิเศษหน่อย เพราะนอกจากเขาจะเป็นเจ้าของแชมป์โลก 2 รุ่น เข็มขัด 3 เส้น ซึ่งก็คือรุ่นเฟเธอร์เวตของ WBC และ ซูเปอร์เฟเธอร์เวตของทั้ง WBC และ WBA แล้ว แต่ คูนิอากิ ชิบาตะ (47-6-3; 25KO) นั้น ยังชิงเข็มขัดแชมป์โลก 2 ใน 3 เส้น ได้มาจากต่างประเทศอีกด้วย โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1970 ซึ่งชิบาตะนั้นสามารถที่จะเอาไล่ถลุง วินเซนเต้ ซาลดิวาร์ แบบชนิดที่เรียกได้ว่ายำใหญ่กันเลยทีเดียว จนเจ้าของตำแหน่งชาวเม็กซิกันนั้นต้องขอยอมแพ้หลังจากจบยกที่ 12 พร้อมยอมมอบเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวตของ WBC ให้กับนักชกญี่ปุ่นไปแต่โดยดี ในการชกที่ติฮัวน่า ประเทศเม็กซิโก อันเป็นถิ่นของทางซาลดิวาร์เองอีกด้วย จากนั้นในอีก 3 ปีต่อมาเขาก็ได้ข้ามรุ่นขึ้นไปเอาชนะคะแนน เบน วิลญาเฟลอร์ กระชากแชมป์ซูเปอร์เฟเธอร์เวตของ WBA จากเอวของนักชกฟิลิปปินส์ มาครองได้สำเร็จอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2973 ที่ฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีนักชกรุ่นลูกรุ่นหลานจากแดนอาทิตย์อุทัยคนใดเลย ที่จะสามารถทำสถิติชิงแชมป์โลกได้จากต่างแดนถึง 2 ครั้ง 2 ครา เหมือนกับทางชิบาตะอีกเลยรายที่ 3 ได้แก่ โชจิ โองูมะ (38-10-1; 20KO) แชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของ WBC 2 สมัย ที่สามารถคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 มาครองได้สำเร็จ ด้วยการบุกไปเอาชนะน็อค ปาร์ค ชาน ฮี เจ้าของตำแหน่งชาวเกาหลีใต้ถึงกรุงโซลในยกที่ 9 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 กลับมาเป็นแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของ WBC ได้สำเร็จอีกครั้ง แถมโองูมะนั้นยังเปิดโอกาสให้ปาร์คกลับมาชิงแชมป์โลกคืนกับเขาในญี่ปุ่นอีกถึง 2 ครั้ง และก็สามารถที่จะเอาชนะคะแนนนักชกพลังโสม ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกเอาไว้ได้ทั้ง 2 ครั้งอีกด้วยส่วนรายที่ 4 นั้นก็คือ ยาสุสึเนะ อูเอฮาร่า (27-5-0; 21KO) แชมป์โลกกำปั้นหนักในพิกัดรุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวตของ WBA ที่ควงหมัดพระเจ้าส่งร่างของ ซามูเอล เซอร์ราโน่ เจ้าของตำแหน่งชาวเปอร์โตริกันลงไปกองได้สำเร็จในยกที่ 6 หลังจากที่คะแนน 5 ยกแรกนั้นแพ้รวดทุกยก คว้าเข็มขัดแชมป์โลกรุ่น 130 ปอนด์ของ WBA มาครองได้อย่างล็อคถล่ม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1980 ที่เมืองดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ชนิดที่เทางนิตยสารเดอะริงก์นั้น ต้องจัดให้มวยคู่นี้เป็นคู่พลิกล็อคแห่งปีค.ศ. 1980 กันเลยทีเดียวสำหรับรายที่ 5 นั้นก็คือ ทาดาชิ มิฮาระ (24-1-0; 15KO) นักชกรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่น เจ้าของฉายา "โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส" หรือ "รถด่วนแห่งภาคตะวันออก" ที่หักปากาเซียนพลิกชนะคะแนน ร็อคกี้ แฟร็ตโต้ นักชกชาวอเมริกัน ด้วยเสียงข้างมากในกำหนด 15 ยก ด้วยคะแนน 145-140, 144-143 และ 142-142 ที่มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนค.ศ. 1981 พร้อมทั้งยัดเยียดความปราชัยเป็นครั้งแรกในชีวิตการชกมวยอาชีพให้กับ ร็อคกี้ แฟร็ตโต้ อีกด้วยส่วนรายที่ 6 นั้นได้แก่ อคิโนบุ ฮิรานากะ (20-2-0; 18KO) นักชกรุ่นใหญ่เคราดก ที่สร้างปรากฏการณ์ช็อคโลกด้วยการบุกเอาชนะ TKO เจ้าของตำแหน่งชาวเม็กซิกัน เอ็ดวิน โรซาริโอ ได้แค่เพียงยกแรก คาบ้านของโรซาริโอเอง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1992 โดยฮิรานากะใช้เวลาเพียงแค่ 1 นาที กับอีก 32 วินาทีเท่านั้น ก็สามารถที่จะควงกำปั้นดินระเบิดของเขา ไล่ถลุงแชมป์โลกคนดังจากแดนจังโก้ถึงกับเข่าอ่อนได้ 2-3 ครั้ง ก่อนที่ไอ้เคราดกจะได้จังหวะรัวหมัดไม่ยั้ง จนกระทั่งกรรมการผู้ห้ามบนเวทีนั้นเห็นว่าทางโรซาริโอเริ่มไม่ตอบโต้แล้ว จึงเข้ามาขวางและยุติการชก ก่อนที่จะชูมือให้ฮิรานากะเป็นฝ่ายชนะ TKO ไปในทันที จึงนับว่าเขาเป็นนักชกญี่ปุ่นรายสุดท้ายที่ทาง JBC ให้การรับรองว่า สามารถชิงแชมป์โลกมาได้จากต่างประเทศ ก่อนที่จะมาถึงคิวของทาง โช คิมูระ คนล่าสุดนี้อย่างไรก็ดีก่อนที่คิมูระจะประสบความสำเร็จอย่างในตอนนี้ ก็มีนักชกญี่ปุ่นอีก 2 ราย ที่สามารถจะคว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครองได้จากการชิงชัยนอกบ้าน ซึ่งรายแรกนั้นก็คือนักชกแมวเก้าชีวิต คาสึนาริ ทาคายาม่า (31-8-0; 12KO) ที่มีฉายาอย่างเป็นทางการว่า "ไลท์นิ่ง คิด" หรือ "เด็กสายฟ้า" แชมป์โลกรุ่น 105 ปอนด์ของ WBC/IBF/WBO และแชมป์เฉพาะกาลของ WBA ในรุ่นเดียวกัน คู่ปรับเก่าของ เด่น จุลพันธ์ อดีตแชมป์โลกรุ่นมินิมั่มเวตของ WBC ชาวไทย ที่เคยตัดสินใจวางนวมในประเทศญี่ปุ่นระหกระเหินออกไปตายเอาดาบหน้า ภายใต้การสนับสนุนของ อลา บ็อกซิ่ง โปรโมชั่นส์ ของฟิลิปปินส์ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่แชมป์โลกรุ่นมินิฟลายเวตของ IBF และ WBO 2 สถาบันมาตราฐานที่ตอนนั้นทาง JBC ยังไม่ได้ให้การรับรอง โดยทาคายาม่านั้นมีโอกาสได้ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นมินิฟลายเวตของ IBF ด้วยกันถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ แถมในการชิงครั้งหลังสุด นั้นยังถูก มาริโอ โรดริเกซ เจ้าของตำแหน่งชาวเม็กซิกัน ต่อยร่วงในยกที่ 3 อีกด้วย อย่างไรก็ดีทาคายาม่านั้นก็กลับมาควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ก่อนที่จะเอาชนะไปในท้ายที่สุดด้วยคะแนน 115-113, 116-111 และ 118-109 คว้าแชมป์โลกรุ่นมินิฟลายเวตของ IBF มาครองได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2013 ที่เมืองซินาโลอา ประเทศเม็กซิโก แต่ตอนนั้นทาง JBC ยังไม่ได้ให้การรับรองสถาบัน IBF เหมือนอย่างทุกวันนี้ และล่าสุดนั้นทางทาคายาม่านั้นก็ทำเซอร์ไพร้ส์อีกครั้ง ด้วยการประกาศแขวนนวมกับทาง JBC อีกเป็นหนที่ 2 แต่คราวนี้กลับเปลี่ยนเป้ามาเป็นการเข้าร่วมชิงชัยในมหกรรมกีฬาโอลิปิกเกมส์ ค.ศ. 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่ทางไอบ้า (AIBA) นั้น ได้เปลี่ยกฎให้นักมวยสากลอาชีพนั้น สามารถที่จะกลับมาขึ้นชกมวยสมัครเล่นได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดีทางสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JABF นั้น ก็ยังไม่ยินยอมให้ทางทาคายาม่านั้น มาขึ้นทะเบียนเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นของประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด เพราะทาง JABF นั้นไม่เห็นด้วยกับทางไอบ้าเกี่ยวกับกรณีนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าทางทาคายาม่านั้น จะหาทองออกเกี่ยวกับกรณีนี้ได้อย่างไรส่วนอีกรายหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะก็คือ โตโมกิ คาเมดะ (34-2-0; 20KO) น้องสามของตระกูลเต่าซ่าส์ของพ่อชิโร่นั่นเอง ที่เราๆคุ้นเคยกับฉายา "เอล เม็กซิคานิโต้" หรือ "เม็กซิกันน้อย" แต่ความจริงหมอนี่ยังมีฉายาในภาษาญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งว่า "คาเมดา-เก ไซชึเฮกิ" หรือ "อาวุธสุดยอดของตระกูลคาเมดะ" โดยทางโตโมกินั้นสามารถที่จะเอาชนะคะแนนทาง เปาลุส อัมบุนด้า เจ้าของเข็มขัดคนเก่าชาวนามิเบีย แย่งแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวตของ WBO มาครองได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ที่เซบูซิตี้ ประเทศฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดีทาง JBC นั้น ก็ไม่ได้รับรองการชกไฟต์ดังกล่าวนี้แต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลานั้น ทาง JBC ยังไม่ได้ให้การรับรองสถาบัน WBO เหมือนอย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ดีปัจจุบันทางโตโมกินั้น ก็ยังคงขึ้นชกมวยสากลอาชีพอยู่ โดยข้ามรุ่นไปขึ้นชกในพิกัด 122 ปอนด์แล้ว ภายใต้การสนับสนุนของค่ายเก่าของ 2 พี่ชายของเขา นั่นก็คือ เคียวเอ้ โปรโมชั่นส์ นั่นเอง โดยทางโตโมกินั้นก็มีเป้าหมายอยู่ที่เข็มขัดแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวตของ IBF ที่เพื่อนร่วมชาติของเขา ยูกิโนริ โองูนิ นั้น กำลังถือครองอยู่ในปัจจุบันนี้และนักชกญี่ปุ่นรายสุดท้ายล่าสุด ที่สามารถคว้าแชมป์โลกมาได้จากนอกบ้านนั้นก็คือ โช คิมูระ (15-1-2; 8KO) ที่บุกไปพลิกล็อคชนะ TKO โจว ซื่อ หมิง ซูเปอร์สตาร์ชาวจีนคาถิ่นยกที่ 11 ในมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา อย่างที่เรานั้นได้ทราบกันไปแล้วว่า คิมูระนั้นก็คือนักชกจากแดนซามูไรรายที่ 9 (หรือ 7 อย่างเป็นทางการ) ที่ได้ครองแชมป์โลกจากการชิงชัยอย่างต่างแดนนั่นเอง ซึ่งทางคิมูระนั้นก่อนที่จะเดินทางไปชิงแชมป์โลกในไฟต์นี้ ทางสิงห์หยกผู้เป็นนายใหญ่นั้น ได้ส่งตัวเขามาชุบตัวอยู่ที่ค่าย 13 เหรียญ รีสอร์ท และ ค่ายเกียรติกรีรินทร์ ในเมืองไทยของเราด้วย อย่างไรก็ดีหลังจากที่ได้ครองแชมป์โลกแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คิมูระนั้นจะขึ้นป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกหนแรกเมื่อไหร่และกับใครกันแน่ ซึ่งจากข่าวล่าสุดนั้นมีรายละเอียดมาว่า คิมูระนั้นมีทางเลือกอยู่ 4 ทางด้วยกัน คือ ให้ โจว ซื่อ หมิง อดีตแชมป์โลกแดนมังกรแก้มือ หรือขึ้นป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกในไฟต์บังคับกับ โตชิยูกิ อิการาชิ อดีตแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตของ WBC ที่ปัจจุบันเป็นรองแชมป์โลกอันดับสูงสุดในรุ่น 112 ปอนด์ของ WBO อยู่นั่นเอง ส่วนทางเลือกที่ 3 และ 4 นั่นก็คือการขึ้นล้มแชมป์โลกกับเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกต่างสถาบันเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งก็คือ คาซูโตะ อิโอกะ แชมป์โลกของ WBA และ ไดโกะ ฮิกะ แชมป์โลกของ WBC แต่จากรายงานข่าวจากประเทศจีนนั้นระบุว่า มีความเป็นได้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว โจว ซื่อ หมิง นั้น อาจจะได้รับเลือกให้เป็นผู้ท้าชิงคนแรกของทางคิมูระมากกว่าทางเลือกอื่น ซึ่งเราคงจะต้องรอดูกันต่อไปว่าจะจริงอย่างที่สำนักข่าวโส้วหูของจีนรายงานไว้หรือไม่และเพราะว่าสถิติมีไว้เพื่อทำการบันทึกต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นใครจะเป็นนักชกญี่ปุ่นรายต่อไปที่สามารถชิงแชมป์โลกมาได้จากต่างแดนนั้น แฟนมวยโลกพันธุ์แท้ทั้งหลายก็ช่วยบันทึกต่อกันไปด้วยก็แล้วกันนะครับ
Boxing-Boy's HomepageBBH on Twitter
BBH Fanpage
HTML Counter