เวทีมวยมาตรฐานไม่มีมวยสากลชก?
มวยสากลอาชีพของเมืองไทย กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี
บุคคลผู้ทรงคุณค่าของชาติ ผู้ทรงนำกีฬามวยสากล หรือที่เรียกกันเล่นๆในยุคแรกๆว่า “มวยฝรั่ง” มาเผยแพร่คือ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล หนุ่มนักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4)
หม่อมเจ้าวิบูลย์ฯ เมื่อทรงศึกษาจบจากอังกฤษกลับมาเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2455 แล้ว ทรงนำ “มวยฝรั่ง” มาเผยแพร่ฝึกสอนแก่บรรดาครูอาจารย์ที่ “สามัคยาจารยสมาคม” ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนเป็นลำดับแรก
จากนั้นวิชา “มวยฝรั่ง” ก็เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดชกในแบบสมัครเล่น มีกฎกติกาการชกแบบสากลระหว่างนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ต่อมาก็แพร่หลายออกมาสู่โลกของกีฬามวยสากลอาชีพ มีการจัดชกมวยสากลอาชีพอย่างเป็นระบบ เพราะมีการประลองฝีมือกันระหว่างนักชกไทยกับนักชกต่างชาติกันอยู่บ่อยๆ
จนที่สุดเมื่อมีการก่อตั้ง สหพันธ์มวยภาคตะวันออกและแปซิฟิก (OREINTAL & PACIFIC BOXING FEDERATION ชื่อย่อ OPBF) โดยความร่วมมือขององค์กรมวยระหว่างชาติสมาชิก 4 ชาติ ในยุคแรกคือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์ และไทย มวยสากลอาชีพก็เริ่ม “บูม” ขึ้นมายิ่งขึ้น มีนักชกมวยสากลอาชีพของไทยเดินทางไปชกยังต่างประเทศมากขึ้น และนักชกต่างชาติก็เข้ามาประลองฝีมือกับนักชกไทยในเมืองไทยมากขึ้น
เวทีมวยราชดำเนิน เป็นเวทีมวยมาตรฐานของเมืองไทย เป็นสมาชิกของ OPBF ในนามตัวแทนประเทศไทย ได้สร้างมวยสากลอาชีพออกไปราวีสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมากมายก่ายกอง นักชกดังๆ เช่น จำเริญ ทรงกิตรัตน์, สมเดช ยนตรกิจ, สมพงศ์ เวชประสิทธิ์, ออมทรัพย์ แหลมฟ้าผ่า, สามารถ ศรแดง, อภิเดช ศิษย์หิรัญ, เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย, เขาทราย แกแล็คซี่, เขาค้อ แกแล็คซี่ และอีกหลายสิบคน ล้วนเกิดจากการสนับสนุนของเวทีราชดำเนิน
รวมทั้งเวทีมวยลุมพินี ที่แม้จะเกิดขึ้นในภายหลัง แต่ก็สร้างสรรค์นักชกมวยสากลอาชีพขึ้นมาหลายคนเหมือนกัน เช่น โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกมวยสากลคนแรกของประเทศไทย เป็นต้น
ตราสัญลักษณ์ของเวทีราชดำเนิน ที่ใช้มาตั้งแต่เวทีราชดำเนินก่อตั้ง ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ ก็เป็นรูปนักชกมวยสากลกำลังพันตูกัน
จะเห็นว่าเวทีราชดำเนิน และ ลุมพินี สองเวทีมาตรฐานของเมืองไทย สร้างนักชกมวยสากลอาชีพมามากมายจริงๆ มีการจัดอันดับมวยสากล ควบคู่ไปกับมวยไทยแทบทุกเดือน
ในอดีตรายการมวยทุกรายการของเวทีราชดำเนิน-ลุมพินี ไม่ว่าใครจะมาเป็นโปรโมเตอร์ จะต้องมีการจัดมวยสากลให้ชกร่วมรายการอย่างน้อยรายการละ 1 คู่เสมอ เพื่อเป็นการสนับสนุนมวยสากลให้คงอยู่เมืองไทย ตามปณิธานของเวทีมวยมาตรฐาน แต่ปัจจุบันไม่มี และไม่มีมานานแล้ว เพราะ “เซียนมวย” ไม่ชอบ เนื่องจากไม่มีการเล่นได้เสีย เสียเวลาในการเล่นได้เสียของเซียนมวย โปรโมเตอร์ผู้จัดรายการก็ต้องทำตาม “ลูกค้า” ที่เป็นเซียนมวย เพราะบรรดาเซียนมวยก็คือผู้ที่ซื้อตั๋วเข้าไปชมมวย ไปเล่นมวยกันเป็นส่วนมากนั่นเอง มวยสากลจึงหายไปจากเวทีมวยมาตรฐาน ใครอยากดูมวยสากลอาชีพจริงๆก็ต้องตามไปดูโปรโมชั่นมวยสากลอาชีพต่างๆโดยเฉพาะ ซึ่งจะจัดตามเวทีมวยชั่วคราวตามแต่ที่จะเห็นสมควร
มวยสากลของสองเวทีมาตรฐานของเมืองไทย จึงไม่มีการจัดชกมานานนมแล้ว แต่แปลกมากๆที่ยังมีการจัดอันดับมวยสากล และประกาศให้สื่อมวลชนทราบทุกครั้งที่มีการจัดอันดับของสองเวทีมาตรฐาน เราจึงได้เห็นชื่อนักชกมวยสากลของเมืองไทยที่ส่วนมากแขวนนวมไปไม่ได้ชกไปนานแล้ว ยังมีชื่อแซ่อยู่ในอันดับ เรียกได้ว่าเป็น “มวยปลาร้าค้างหลายปี” ก็ย่อมได้
แชมป์มวยสากลหลายคนมีชื่อค้างแขวนเติ่งโทงเทงเป็นแชมป์อยู่นานปี ทั้งๆที่ไม่ได้ขึ้นชกกับใครเลย
เอวังก็ด้วยประการะฉะนี้ดีกว่า
“ชายพจน์”